การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนเพื่อการรักษาผู้มีบุตรยากมีขั้นตอนดังนี้ค่ะ
การเลี้ยงตัวอ่อน เป็นกระบวนการที่ทำหลังจากการเก็บไข่ โดยนำไข่ผสมกับอสุจิและมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น กระบวนการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อน ทุกขั้นตอนจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งจะต้องมีการควบคุม โดยมีผู้เชี่ยวชาญในทุก ๆ กระบวนการเพื่อให้ไปสู่ความสำเร็จ
ในวันที่มีกำหนดเก็บไข่ ซึ่งเป็นวันที่ไข่โตสมบูรณ์พร้อมที่จะได้รับการปฏิสนธิ โดยแพทย์ผู้ทำการรักษามีบุตรยากจะทำการเก็บไข่และส่งมาให้ห้องปฏิบัติการทันที จากนั้นนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะทำการวิเคราะห์ คัดแยกไข่ ภายใต้กล้องจุลทรรศน์สเตอริโอ ซึ่งเป็นกล้องที่มีความละเอียดสูงมาก เพื่อทำการแยกไข่ออกจากน้ำถุงไข่ที่แพทย์ทำการส่งตรวจ เมื่อได้ไข่และเซลล์ที่ล้อมรอบแล้ว ไข่จะต้องล้างสารไม่บริสุทธิ์ออกด้วยน้ำยาชนิดพิเศษ ไข่ที่ล้างแล้วจะย้ายลงจานเลี้ยงและเก็บไว้ในตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่มีการควบคุมก๊าซ CO2 เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะทำการผสมไข่กับอสุจิ ซึ่งอสุจิได้มาจากการผ่านกระบวนการคัดเลือกตัวอสุจิที่สมบูรณ์แข็งแรงมาทำการผสมกับไข่ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิที่สมบูรณ์ (ในวันที่ทำการเก็บไข่ ทางห้องปฏิบัติการ จะเรียกว่า DAY 0)
หลังจากที่นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนผสมไข่กับอสุจิได้ 16-18 ชั่วโมง จะมีการติดตามพัฒนาการของตัวอ่อน ซึ่งตัวอ่อนระยะนี้ยังคงเป็นเซลล์เดียวที่มีวงกลม 2 วงอยู่ภายใน (เรียกว่า pronuclei) pronuclei ที่พบในตัวอ่อนก็คือ สารพันธุกรรมจากฝ่ายหญิงและฝ่ายชายนั่นเอง (ในวันนี้ทางห้องปฏิบัติการจะเรียกว่า DAY 1)
เมื่อผ่านไปเป็นระยะ 3 วัน (ทางห้องปฏิบัติการจะเรียกว่า DAY 3) นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะช่วยเจาะเปลือกไข่โดยใช้เลเซอร์ รวมถึงเช็คดูว่าจำนวนเซลล์ตัวอ่อนพัฒนาการปกติดีหรือไม่ ซึ่งระยะ Day 3 นี้ควรมีการแบ่งเป็น 8 เซลล์ หากน้อยกว่านี้ก็แสดงว่าตัวอ่อนเริ่มมีพัฒนาการที่ช้า
DAY 5-6 ตัวอ่อนเจริญเติบโตสู่ระยะบลาสโตซิสท์ Blastocyst เป็นระยะที่เซลล์มีการแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นและมีพัฒนาการถึงการแยกชั้นของกลุ่มเซลล์ เป็นระยะที่พร้อมสำหรับการฝังตัวที่มดลูก ในห้องปฏิบัติการหลายแห่งเลือกจะใส่ตัวอ่อนในระยะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเคยมีประวัติการแท้งหรือล้มเหลวจากการทำเด็กหลอดแก้วมาก่อน
สำหรับเรื่องการจัดเก็บตัวอ่อน
อาจมีคนสงสัยว่าจะรู้ว่าตัวอ่อนตัวไหนเป็นของใครนั้น เราจะมีวิธีการ Identify คนไข้ โดยนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนก็จะนำไปใส่ในจานเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่มีป้ายติดฉลาก ซึ่งป้ายจะมีรายละเอียดทั้งชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวคนไข้ ทั้งที่ตัวจานเพาะเลี้ยงตัวอ่อนเองและที่หน้าเครื่องเพาะเลี้ยงตัวอ่อนด้วย ถือเป็นการทำ Double Identity เพื่อป้องกันความผิดพลาด
เครื่องเพาะเลี้ยงตัวอ่อนแต่ละเครื่องจะสามารถใส่จานเพาะเลี้ยงตัวอ่อนได้ 8 ชิ้น เปรียบเหมือนบ้าน 8 หลังของตัวอ่อน ซึ่งในแต่ละจานเพาะเลี้ยงตัวอ่อนก็จะแบ่งได้เป็น 12 ดรอป เหมือนบ้านที่มีห้องส่วนตัวอยู่ 12 ห้อง เพื่อให้ตัวอ่อนแต่ละตัวอยู่เป็นสัดส่วนห้องละ 1 ตัวนั่นเอง ถ้าหากคนไข้มีจำนวนไข่ที่ผสมแล้วจำนวนมาก ก็สามารถเพิ่มจานเพาะเลี้ยงตัวอ่อนหรือบ้านหลาย ๆ หลังได้ อันนี้ทำได้โดยไม่จำกัดจำนวนโดยจะมีการติดฉลากรายละเอียดอย่างครบถ้วนชัดเจน
และเนื่องจากการทำเด็กหลอดแก้ว มักมีการกระตุ้นรังไข่ให้มีการผลิตไข่ในจำนวนที่มากขึ้นกว่ารอบการตกไข่ปกติตามธรรมชาติ ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้ได้ตัวอ่อนจำนวนมาก แต่เมื่อทำการย้ายตัวอ่อนกลับโพรงมดลูก แพทย์จะเลือกใส่เพียง 1-2 ตัวเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็จะนำมาทำการแช่แข็งเก็บไว้ใช้ในกรณีต้องการย้ายตัวอ่อนในรอบใหม่ หรือในกรณีที่คนไข้วางแผนที่จะมีบุตรเพิ่มในอนาคตก็จะสามารถละลายตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้มาใช้ประโยชน์ได้ด้วย โดยการแช่แข็งตัวอ่อนทางห้องปฏิบัติการจะทำการแช่แข็งแบบผลึกแก้ว (Vitrification) โดยใช้น้ำยา Cryoprotectant ที่มีความเข้มข้นสูง และทำให้เย็นอย่างรวดเร็วโดยไนโตรเจนเหลว -196 องศาเซลเซียส วิธีนี้ไม่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง และใช้เวลาเพียงเล็กน้อยประมาณ 30 นาทีต่อราย แต่จะต้องใช้ประสบการณ์ความชำนาญของนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในการปฏิบัติงาน เนื่องจากถ้าไม่เชี่ยวชาญอาจทำให้ตัวอ่อนเสียหายและตายได้
ส่วนเรื่องจำนวนไข่ที่เหมาะสมสำหรับการเตรียมทำตัวอ่อนว่าต้องมีจำนวนเท่าไร ก็ขอแนะนำง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
• หากคนไข้อายุน้อยกว่า 35 ปี จำนวนไข่ที่แนะนำอยู่ 10-15 ใบ ต่อความสำเร็จในการตั้งครรภ์ 1 ครั้ง
• หากคนไข้อายุมากกว่า 35 ปี อาจต้องใช้จำนวนไข่เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยโอกาสของการตั้งครรภ์เท่ากับร้อยละ 7 ต่อไข่ 1 ใบ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นจำนวนไข่และความผิดปกติของไข่ก็มีเพิ่มขึ้นตามอายุ ฉะนั้นหากต้องการเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้สูงขึ้นจึงต้องมีไข่สำรองมากขึ้นนั่นเอง
จำนวนตัวอ่อนที่ใช้ในแต่ละครั้งก็คือ 1-2 ตัว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีไข่ 15 ฟอง มีการผสมแล้วได้ตัวอ่อนมา 80% คือประมาณ 12 ฟอง แพทย์จะย้ายตัวอ่อนไม่เกิน 2 ตัวต่อการตั้งครรภ์ 1 ครั้ง ซึ่งหากใส่เข้าไปสองตัวแล้วแข็งแรงทั้งคู่ก็จะเป็นการตั้งครรภ์แฝดนั่นเอง ไม่แนะนำให้ใส่ตัวอ่อนจำนวนมากเพราะอาจจะมีความเสี่ยงกับทั้งคุณแม่และเด็กได้ ซึ่งต้องมีการพิจารณาและประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง
จะเห็นว่าขั้นตอนการเลี้ยงตัวอ่อนเป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน และเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญมากในการรักษาผู้มีบุตรยากให้ประสบความสำเร็จได้ค่ะ
รู้จักบริการแช่แข็งตัวอ่อน
———————————-
สนใจติดต่อ : คลินิกรักษามีลูกยาก Prime Fertility Center
สอบถามการรักษามีลูกยาก : ได้ที่นี่
ติดตามข่าวความรู้เรื่องรักษามีบุตรยาก ได้ที่ : fb.me/primefertilitycenter/
ดูวีดีโอคลิปรีวิวจากผู้ใช้บริการ : ได้ที่นี่
ติดต่อเรา : Tel : 02-029-1418–9, 062-648-6688
ที่ตั้งของ Prime Fertility Center : คลิกดู google map
ที่อยู่ 1177 อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้นที่ 22 ถ.พหลโยธิน ตำบล/แขวง พญาไท กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย 10400
Reference: Prime Fertility Center Co., Ltd.
https://www.primefertilitycenter.com/qa-นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน-2