หลังจากที่ไข่ผสมกับสเปิร์มแล้วก็จะมีการนำไปเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการโดยนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งในระยะเวลาพัฒนาตัวอ่อนก็อยู่ที่ประมาณ 5-6 วัน ในช่วงนี้ก็จะมีการแบ่งเกรดของตัวอ่อนเพื่อดูความแข็งแรงสมบูรณ์ ก่อนที่จะมีคัดเลือกตัวอ่อนที่ดีที่สุดเพื่อย้ายกลับสู่โพรงมดลูก
ขั้นตอนต่าง ๆ ในการแบ่งเกรดตัวอ่อน
การแบ่งเกรดหรือให้คะแนนตัวอ่อนจะทำในตัวอ่อน 2 ระยะคือ ระยะคลีเวจ Cleavage และ ระยะบลาสโตซิสท์ Blastocyst ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างกันคือ
• ตัวอ่อนระยะคลีเวจ Cleavage จะแบ่งเป็น 3 เกรด
คลีเวจ Cleavage เป็นระยะที่ตัวอ่อนเกิดการแบ่งตัว ระยะนี้จะเป็นระยะหลังไข่กับสเปิร์มผสมกันแล้ว 24 – 72 ชั่วโมงเป็นระยะที่ไข่กับสเปิร์มผสมกันแล้ว 24 ชั่วโมงเป็นต้นไปจนถึงไม่เกินวันที่ 4 เราจะแบ่งเกรดโดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากลจากเกณฑ์การให้คะแนนตัวอ่อนของ Istanbul Consensus Scoring System 2011 โดยจะมีการพิจารณาจากรูปร่างความสมมาตรของเซลล์ที่พบ สำหรับการแบ่งเกรดระยะนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
– เกรด 1 คือตัวอ่อนที่มี blastomeres หรือมีการแบ่งเซลล์ของตัวอ่อนที่เป็นรูปร่างกลมสวย มีขนาดเท่าๆ กันและรูปร่างใกล้เคียงกัน ไม่มีแฟรกเมนเตชัน (Fragmentation เศษเซลล์ขนาดเล็กที่ผิดปกติในตัวอ่อน) หรือหากมีก็น้อยกว่า 10 % ถ้าอยู่ในเงื่อนไขนี้ก็จะได้เกรด 1 ซึ่งตัวอ่อนกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มสูงที่จะเจริญเติบโตเป็นระยะบลาสโตซิสท์ได้สูง
– เกรด 2 คือตัวอ่อนที่มี blastomeres หรือการแบ่งเซลล์ของตัวอ่อนที่เซลล์มีขนาดแตกต่างกันเล็กน้อย มีขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน และมีแฟรกเมนเตชัน (Fragmentation) พบอยู่ประมาณ 10-25 %
คลีเวจ
– เกรด 3 ตัวอ่อนมี blastomeres หรือการการแบ่งตัวของเซลล์ที่ขนาดไม่เท่ากัน มีแฟรกเมนเตชัน อยู่มากกว่า 25 % หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของตัวอ่อน ซึ่งกรณีนี้เราก็อาจจะหาเซลล์ของตัวอ่อนจริง ๆ ได้ไม่พบเลย แต่ถึงจะได้เกรดนี้เราก็จะเลี้ยงต่อตามปกติ เพราะว่าเกรด 3 ก็ยังมีโอกาสเติบโตเป็นบลาสโตซิสท์ แม้ว่าเซลล์ของตัวอ่อนอาจจะไม่สวยมากหรือไม่สมบูรณ์มากนักก็จะไม่มีการทิ้ง ต้องดูแลกันต่อไปก่อน เนื่องจากวิธีการเลี้ยงตัวอ่อนจะเลี้ยงแยกกันอยู่แล้ว 1 ตัวต่อ 1 ดรอป ดังนั้นจึงยังคงเลี้ยงต่อไปเพราะว่าตัวอ่อนยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้ เพียงแต่อาจจะไม่สวยมากนัก
เมื่อตัวอ่อนผ่านระยะคลีเวจ Cleavage แล้วก็จะพัฒนาสู่ระยะบลาสโตซิสท์ Blastocyst
• ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสท์ Blastocyst
เป็นระยะที่มีตัวอ่อนเจริญเติบโตอยู่ 5-6 วันหลังจากที่ไข่กับสเปิร์มผสมกัน ซึ่งเมื่อเราเลี้ยงตัวอ่อนถึง Day 5-6 หรือระยะบลาสโตซิสท์แล้ว ก็จะมีการเกรดตัวอ่อนอีกครั้ง โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากลที่ใช้กันในการคัดเกรดของ Gardner and Schoolcraft 1999 โดยระยะบลาสโตซิสท์นี้จะแบ่งเป็น 6 เกรด
ซึ่งปัจจัยในการพิจารณาจะดูจาก
1. Expansion รูปร่างของเซลล์ของตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิสท์
2. Inner Cell Mass (ICM) เป็นเซลล์ที่จะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนและไปฝังตัวที่มดลูก
3. Trophectoderm เป็นเซลล์ที่จะเจริญเติบโตเป็นรกไปเกาะที่ผนังมดลูก
การให้เกรดหรือประเมินตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสท์ ก็จะดูจาก 3 ตัวนี้เป็นหลัก
1. Expansion แบ่งเป็น 6 เกรด ซึ่งเป็นการดูถึงระยะของการเติบโตของบลาสโตซิสท์ ดังนี้
• Early Blastocyst หรือ Expansion ระดับที่ 1 : จะมีบลาสโทซีลน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาตรตัวอ่อน (ในระยะ Blastocyst จะมีการเคลื่อนที่ของเซลล์เพื่อให้ได้ช่องว่างในตัวอ่อน เรียกช่องว่างนี้ว่า Blastocoel)
• Blastocyst หรือ Expansion ระดับที่ 2 : จะมีบลาสโทซีลมากกว่าครึ่งหนึ่งของขนาดตัวอ่อน
• Full Blastocyst หรือ Expansion ระดับที่ 3 : มีบลาสโทซีลเจริญเต็มที่อยู่ในตัวอ่อน และขนาดตัวอ่อนเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น
• Expanded Blastocyst หรือ Expansion ระดับที่ 4 : ปริมาตรของบลาสโทซีลมีขนาดใหญ่กว่า 3 ระยะแรกของตัวอ่อน เปลือกไข่ หรือ Zona pellucida จะบางลงครึ่งหนึ่ง รวมทั้งขนาดตัวอ่อนจะขยายขนาดใหญ่ขึ้น
• Hatching Blastocyst หรือ Expansion ระดับที่ 5 : ส่วนที่จะเติบโตไปเป็นรกหรือ Trophectoderm เริ่มโผล่ออกมาจากเปลือกแล้ว
• Hatched Blastocyst หรือ Expansion ระดับที่ 6 : ตัวอ่อนฟักตัวหลุดออกมาจากเปลือกแล้ว
2. Inner Cell Mass หรือ ICM จะมีการเกรดเป็น 3 เกรด คือจะได้ เกรด A , B , C
Grade A : มีจำนวนเซลล์มาก และยึดเกาะกันเป็นกลุ่มก้อน
Grade B : มีเซลล์ไม่มาก มีการรวมกลุ่มกันหลวม ๆ มีการกระจายตัวบ้าง
Grade C : มีเซลล์น้อยมากหรืออาจมองไม่เห็นการรวมกลุ่มของ Inner Cell Mass เลย
3.Trophectoderm จะมีการเกรดเป็น 3 เกรดเช่นกัน คือจะได้ เกรด A , B , C
Grade A : มีจำนวนเซลล์มาก มีขนาดเซลล์เรียงตัวกันสม่ำเสมอ สวยงาม
Grade B : มีจำนวนเซลล์ที่น้อย ยึดเกาะกันหลวมๆ หรือขนาดและเซลล์เรียงตัวกันไม่สม่ำเสมอ ขนาดเซลล์มีเล็กบ้างใหญ่บ้าง
Grade C : มีจำนวนเซลล์น้อยมาก ขนาดเซลล์เล็กบาง ไม่สม่ำเสมอ
สำหรับที่ Prime Fertility Clinic การคัดเกรดตัวอ่อนเราก็จะดูตามหลักการให้คะแนน เมื่อเกรดแล้วนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนก็จะมีการบันทึกข้อมูลของตัวอ่อนแต่ละตัวไว้อย่างละเอียดทั้งหมด
เมื่อได้ผลจากทั้ง 3 ส่วนครบแล้วก็จะมีการนำผลทั้งหมดมาประเมินร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งผลก็จะเป็นเครื่องมือเบื้องต้นในการประเมิณเพื่อประกอบการพิจารณาเลือกตัวอ่อนใส่กลับสู่โพรงมดลูก ตัวอย่างเช่น ตัวอ่อนที่มีเกรด 6 A B หรือ 6 B B ก็จะเป็นตัวเลือกแรกๆ ในการแนะนำใส่กลับเป็นต้น
สำหรับการเลือกให้ความสำคัญจากทั้ง 3 ปัจจัยก็จะเลือกจาก Inner Cell Mass ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถ้า Inner Cell Mass คุณภาพดีก็จะค่อนข้างมั่นในว่าเมื่อฝังตัวไปก็มีโอกาสเจริญเติบโตแน่นอน เพราะเป็นหัวใจสำคัญของตัวอ่อนนั่นเอง
การเลือกเกรดตัวอ่อนก็จะมีผลกับความสำเร็จ ซึ่งถึงแม้ตัวอ่อนเกรดจะไม่ดีมากแต่ก็ยังมีโอกาสในการฝังตัวอยู่ เพราะหากเซลล์ไม่มีความผิดปกติใด ๆ โอกาสที่จะไปฝังตัวในโพรงมดลูกและเติบโตเป็นทารกก็ยังมีอยู่ บางครั้งแม้ตัวอ่อนที่ได้เกรดดีแต่มีโครโมโซมผิดปกติก็จะไม่เหมาะสมกับการฝังตัวได้เหมือนกัน ดังนั้นในรายที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป หรือแท้ง2 ครั้งขึ้นไป คู่สามี-ภรรยา คนใดคนนึ่งอาจมีโครโมโซมผิดปกติ ก็จะมีการตรวจโครโมโซมตัวอ่อนเพิ่มเติมก่อนการย้ายกลับสู่โพรงมดลูกเพื่อความมั่นใจมากยิ่งขึ้นได้
Reference: Prime Fertility Center Co., Ltd.
https://www.primefertilitycenter.com/วิธีการแบ่งเกรดตัวอ่อน