ทำไมการตรวจสุขภาพก่อนแต่งและก่อนมีบุตรจึงสำคัญ?
Meta Title : พารู้ทันอาการไข่ตก พร้อมแจกวิธีการนับวันไข่ตก นับยังไงให้ถูกต้อง!
Meta Description : “ไข่ตก” ภาวะที่ร่างกายพร้อมจะมีเจ้าตัวน้อยที่สุด ว่าแต่จะรู้ได้ยังไงว่าเรากำลังไข่ตก? ถ้าอยากนับวันไข่ตกต้องนับยังไงให้เป๊ะ? มาร่วมเตรียมตัวเป็นคุณแม่มือใหม่กันได้ที่นี่!
——————————————————————————————————————————————————
สำหรับคู่รักที่เพิ่งวางแผนมีลูกแบบธรรมชาติ หนึ่งวิธีที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลยนั่นก็คือ “การนับวันตกไข่” วิธีที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้พุ่งสูงขึ้นอีกหลายเปอร์เซ็นต์จากการทำกิจกรรมรักอย่างถูกจังหวะ
HDmall.co.th ร่วมกับ Prime Fertility Center จึงจะพาทุกคนมาล้วงลึกและทำความรู้จักกับ “ไข่ตก” ภาวะที่ร่างกายพร้อมจะมีเจ้าตัวน้อยที่สุดว่าคืออะไร? เมื่อไข่ตกแล้วจะมีอาการอย่างไร? ควรมีเพศสัมพันธ์ช่วงไหนถึงเพิ่มโอกาสการมีลูกได้? รวมถึงแชร์วิธีการนับวันไข่ตกอย่างไรให้แม่นยำ ถ้าพร้อมแล้วก็มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลย
ไข่ตกคืออะไร?
ไข่ตก หรือ การตกไข่ (Ovulation) คือ ภาวะที่ร่างกายปล่อยไข่ออกจากถุงรังไข่ เพื่อไปปฏิสนธิกับอสุจิที่ท่อนำไข่ตามกลไกธรรมชาติของระบบสืบพันธุ์ ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นเพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น
โดยปกติแล้วในเพศหญิงร่างกายจะเริ่มสร้างเซลล์ไข่ขึ้นมา หากอยู่ในครรภ์จะมีไข่มากถึง 6-7 ล้านฟอง เมื่อคลอดออกมาแล้วจะเหลือไข่เพียง 2 ล้านฟอง ก่อนที่จำนวนจะลดลงเรื่อยๆ จนเหลือไข่เพียง 2-5 แสนฟอง ซึ่งในจำนวนที่เหลืออยู่นี้มีเพียง 400-500 ฟองเท่านั้นที่สามารถนำไปสู่การตั้งครรภ์ได้
โดยในทุกๆ เดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ฮอร์โมน LH (Luteinozing Hormone) และฮอร์โมน FSH (Follicle Stimulating Hormone) จะทำงานร่วมกัน เพื่อให้ได้ไข่ 15-20 ฟองที่สมบูรณ์เพียงพอต่อการปฏิสนธิ
ก่อนที่ไข่ที่สมบูรณ์แข็งแรงที่สุดเพียง 1 ฟองจะออกมาจากถุงรังไข่และเคลื่อนตัวไปที่ท่อนำไข่ แล้วเกิดการปฏิสนธิกันที่บริเวณนั้น เมื่อใดก็ตามที่ไข่ได้ออกมาจากถุงรังไข่แล้ว จะสามารถนับได้ว่ามี “การตกไข่” เกิดขึ้น
ไข่ตกสำคัญอย่างไร?
การตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ อสุจิจากฝ่ายชายจะเข้าไปเจาะและปฏิสนธิกับไข่ของฝ่ายหญิง ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนและเคลื่อนไปฝังตัวอยู่ที่ผนังมดลูก
ไข่ตก จึงนับเป็นหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดในการตั้งครรภ์เลยก็ว่าได้ เพราะหากไม่มีไข่ตกก็จะไม่สามารถเกิดกระบวนการปฏิสนธิและนำไปสู่การตั้งครรภ์ตามธรรมชาติได้
ในผู้หญิงบางคนอาจต้องเผชิญกับภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากมีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (Polycystic Ovarian Disease) ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการขาดประจำเดือน (Amenorrhea) และประจำเดือนห่าง (Oligomenorrhea) โดยผู้หญิงที่มีปัญหานี้สามารถพบได้มากถึง 5-10% ทั่วโลก
วงจรไข่ตกเป็นอย่างไร?
ภาวะไข่ตกมักเกิดขึ้นในช่วงกลางของรอบเดือน แต่ไม่สามารถระบุวันที่แน่ชัดได้ เนื่องจากวันไข่ตกของผู้หญิงแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันไปตามวันที่เกิดรอบเดือนและระยะเวลาของรอบเดือน
ปกติแล้ว ภาวะไข่ตกจะเกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนรอบเดือนถัดไป โดยวงจรไข่ตกสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะมีประจำเดือน อาจใช้เวลา 3-7 วันใน 1 รอบ โดยวันแรกที่มีประจำเดือนจะถูกนับเป็นวันแรกของรอบเดือนหรือวันสุดท้ายของรอบเดือนก่อนหน้า และการมีประจำเดือนยังเป็นสิ่งที่สื่ออีกว่ารอบเดือนที่ผ่านมาไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น
- ระยะก่อนไข่ตก ในระยะนี้ต่อมใต้สมองจะหลั่งฮอร์โมน FSH ไปกระตุ้นให้รังไข่เจริญเติบโตเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตกไข่ และหากรังไข่อยู่สภาพที่สมบูรณ์แล้ว รังไข่จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนขึ้นมาเพื่อให้เยื่อบุผนังมดลูกหนาตัวขึ้นพร้อมรองรับการฝังตัวอ่อน
- ระยะไข่ตก ในระยะนี้ต่อมใต้สมองจะผลิตฮอร์โมน LH ออกมามากเพื่อกระตุ้นให้ไข่ฟองที่แข็งแรงที่สุดออกมาจากถุงรังไข่และเคลื่อนตัวไปที่ท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิ ซึ่งระยะนี้จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 14 ของรอบเดือน และมีเวลาเพียง 12-24 ชั่วโมงเท่านั้น
- ระยะหลังไข่ตก หากในระยะนี้มีอสุจิที่แข็งแรงพอที่จะเข้าไปเจาะไข่ได้ ก็จะทำให้เกิดการปฏิสนธิ และเกิดเป็นตัวอ่อน ก่อนที่ตัวอ่อนจะฝังตัวที่มดลูกและเจริญเติบโตต่อไป
ซึ่งถ้าหากระยะหลังไข่ตกไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ผนังมดลูกที่หนาตัวขึ้นเพื่อรองรับการฝังตัวอ่อนก็จะค่อยๆ สลายตัวออกและขับออกมาเป็นประจำเดือนในวันที่ 28 ของรอบเดือน ซึ่งนับเป็นการกลับเข้าสู่ระยะมีประจำเดือนใหม่อีกครั้ง
วิธีนับวันไข่ตกให้แม่นยำ
จากวงจรไข่ตกที่อธิบายไปก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่าการนับวันไข่ตกถือเป็นหนึ่งสิ่งสำคัญที่ผู้วางแผนมีลูกควรรู้ เนื่องจากระยะไข่ตกจะเกิดขึ้นเพียงเดือนละ 1 ครั้ง และเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ถ้าอยากนับวันไข่ตกให้แม่นยำก็ควรทำตามวิธีดังต่อไปนี้
1. จดบันทึกรอบเดือน
สำหรับใครที่กำลังเตรียมตัวเป็นคุณแม่ สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือการจดบันทึกความยาวของรอบเดือนในทุกๆ เดือน ควรจดตั้งแต่วันแรกและวันสุดท้ายที่มีประจำเดือนในรอบนั้นๆ เพื่อให้ทราบว่าตนเองมีระยะรอบเดือนเท่าไหร่ ซึ่งระยะเวลา 1 รอบเดือน คือ วันแรกที่มีประจำเดือนของเดือนก่อนจนถึงวันแรกที่มีประจำเดือนในรอบปัจจุบัน
โดยวิธีที่ง่ายที่สุดในการคาดคะเนวันไข่ตก คือ การนับวันตามปฏิทิน ซึ่งสามารถทำได้โดยการนำวันแรกที่คาดว่าจะมีประจำเดือนมานับย้อนกลับเป็นจำนวน 14 วัน
แต่วิธีนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอที่มีรอบประจำเดือนยาว 28 วันเท่านั้น เพราะประจำเดือนที่สม่ำเสมอมักเกิดจากการที่มีไข่ตกตรงกันทุกเดือน รวมถึงผลการคาดคะเนจากวิธีนี้อาจยังไม่แม่นยำพอ เนื่องจากไข่ที่เจริญเต็มที่อาจไม่ได้ตกก่อนประจำเดือนมา 14 วันเสมอไป
นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่กล่าวว่า ช่วงวันที่ 10-17 ของรอบเดือนเป็นช่วงที่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ โดยเราสามารถนำข้อมูลที่บันทึกไว้มาคำนวณหาวันที่เหมาะสมในการมีเพศสัมพันธ์ได้จากสูตรดังต่อไปนี้
- รอบเดือนที่มีวันน้อยสุด – 18 = วันแรกที่พร้อมตั้งครรภ์ (First Fertile Day)
- รอบเดือนที่มีวันมากสุด – 11 = วันสุดท้ายที่พร้อมตั้งครรภ์ (Last Fertile Day)
ตัวอย่างเช่น คุณ PFC ได้จดจำนวนวันที่เป็นประจำเดือนในแต่ละรอบประจำเดือนไว้ 12 เดือน คือ 26, 25, 25, 28, 26, 27, 28, 27, 29, 28, 28, 26 จะเห็นได้ว่ารอบเดือนที่สั้นที่สุดคือ 25 วัน และยาวที่สุดคือ 29 วัน
เมื่อนำมาคำนวณจะได้คำตอบว่าวันแรกที่คุณ PFC พร้อมตั้งครรภ์ คือ 25-18 = 3 และวันสุดท้ายที่พร้อมตั้งครรภ์ คือ 29-11 = 18 หรืออธิบายง่ายๆ ว่าหากคุณ PFC ต้องการที่จะมีบุตรก็ควรมีเพศสัมพันธ์กับคนรักในระหว่างวันที่ 3 จึงถึงวันที่ 18 ของรอบประจำเดือนในเดือนถัดไป
วิธีนี้นอกจากจะใช้ในผู้ที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอได้แล้ว ยังสามารถใช้กับผู้ที่มีประจำเดือนคลาดเคลื่อนได้อีกด้วย
สำหรับผู้ที่อยากเริ่มจดบันทึกสามารถเลือกจดลงสมุดด้วยลายมือหรือเลือกใช้แอปพลิเคชันสุขภาพต่างๆ ในการบันทึกข้อมูลก็ได้ โดยปัจจุบัน หลายๆ แอปพลิเคชั่นก็มีการบันทึกความยาวของรอบเดือนและคำนวณวันไข่ตกให้อัตโนมัติด้วย
นอกจากการจดบันทึกความยาวของรอบเดือนในทุกๆ เดือนแล้ว การบันทึกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายเพียงเล็กน้อยก็สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ได้ เช่น
- อุณหภูมิร่างกายหลังตื่นนอน (Basal Body Temperature)
- การเปลี่ยนแปลงของมูกช่องคลอด
- ติดตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะเริ่มมีรอบประจำเดือน
- จดบันทึกวันที่มีเพศสัมพันธ์
ซึ่งการบันทึกข้อมูลข้างต้นจะทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าเราอยู่ในช่วงไข่ตกหรือไม่ หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนั้นก็จะทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์สูงขึ้น
2. ใช้ชุดทดสอบไข่ตก
เนื่องจากก่อนไข่ตกราวๆ 12-48 ชั่วโมง ฮอร์โมน LH จะพุ่งสูงขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ไข่ฟองที่สมบูรณ์เคลื่อนตัวไปที่ท่อรังไข่ ในทางการแพทย์จึงมีการคิดค้นชุดทดสอบไข่ตกขึ้น เพื่อตรวจสอบระดับฮอร์โมน LH ในปัสสาวะ
หากใช้ชุดทดสอบนี้แล้วพบว่าฮอร์โมน LH อยู่ในระดับที่สูง การมีเพศสัมพันธ์ภายใน 48 ชั่วโมง ก็จะเพิ่มโอกาสให้เกิดการตั้งครรภ์มากขึ้น
ซึ่งวิธีการใช้ชุดทดสอบให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การตรวจในช่วงเวลาบ่ายๆ ไปจนถึงช่วงหัวค่ำ เนื่องจากฮอร์โมน LH จะถูกสร้างขึ้นในช่วงเช้าและสูงขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างวัน รวมทั้งก่อนทดสอบควรงดดื่มน้ำอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ปัสสาวะที่เข้มข้นและเห็นผลการทดสอบได้ชัดเจนที่สุด
หากนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกรอบเดือนเพื่อวิเคราะห์วันที่ไข่ตกมาใช้ร่วมกับการใช้ชุดทดสอบนี้ ก็จะทำให้ประหยัดงบประมาณในการใช้ชุดตรวจ รวมถึงยังให้ความแม่นยำมากกว่าการจดบันทึกเพียงอย่างเดียวถึง 90%
เมื่อไข่ตกจะมีอาการอย่างไร?
โดยทั่วไปก่อนไข่ตกระดับฮอร์โมนในร่างกายจะแปรปรวน ทำให้หลายคนอาจมีอาการคัดเต้านม ไวต่อกลิ่น และอารมณ์ไม่คงที่ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่เป็นสัญญาณของไข่ตกได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
- มูกช่องคลอดลื่นขึ้น ในช่วงที่ไข่ตกร่างกายจะปรับสภาพให้เหมาะสมสำหรับการปฏิสนธิ โดยการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้นจะทำให้ช่องคลอดในช่วงนั้นลื่นและใส ง่ายต่อการที่อสุจิจะเคลื่อนผ่านเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ หากต้องการทดสอบสามารถทำได้โดยการใช้นิ้วสอดเข้าไปในช่องคลอด หากสัมผัสแล้วมูกสามารถยืดได้คล้ายไข่ขาวดิบ แสดงว่ากำลังอยู่ในช่วงไข่ตก
- ตำแหน่งของปากมดลูกเปลี่ยนไป โดยปากมดลูกจะสูง นุ่ม และเปิดออกมากขึ้น หากลองสัมผัสปากมดลูกจะนุ่มคล้ายริมฝีปาก แต่หากผ่านช่วงไข่ตกไป ปากมดลูกจะกลับมาแข็งอีกครั้งคล้ายกับสันจมูก
- ปวดท้องน้อย ช่วงที่มีไข่ตกมักจะมีอาการปวดท้องน้อยอ่อนๆ ข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นเป็นเวลาสั้นๆ หรือนานต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ในบางรายอาจมีตกขาวหรือมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย นอกจากนี้แล้วการปวดท้องในช่วงไข่ตกยังสามารถเกิดได้จากการขยายตัวของรังไข่อีกด้วย
- มีตกขาว อาจเป็นตกขาวที่มีสีน้ำตาลซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ โดยสีน้ำตาลที่เห็นในตกขาวนั้นมาจากถุงไข่ที่เคยล้อมรอบไข่ที่กำลังเจริญเติบโตแตกออก ทำให้มีเลือดออกมาปะปนกับตกขาว
- อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น อุณหภูมิพื้นฐานของร่างกายขณะพักโดยปกติแล้วจะอยู่ระหว่าง 36.1-36.4 องศาเซลเซียส แต่ถ้าหากอยู่ในช่วงระหว่างไข่ตก ร่างกายจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงขึ้นและมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจากเดิม 0.5 องศาเซลเซียส
- มีอารมณ์ทางเพศสูงขึ้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย
สำหรับอาการที่เป็นผลกระทบจากกระบวนไข่ตกจะคงอยู่เพียง 1-2 วันเท่านั้น แล้วอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายเป็นปกติ
ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนหรือหลังวันไข่ตก
ถึงแม้ไข่จะสามารถอยู่ในท่อนำไข่ได้เพียง 12-24 ชั่วโมง จนทำให้ใครหลายคนกังวลกัน แต่การมีเพศสัมพันธ์ไม่ตรงกับวันที่มีไข่ตกก็ยังมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้อยู่
เนื่องจากเมื่ออสุจิเข้าไปในมดลูกแล้วจะสามารถมีชีวิตอยู่ในมดลูกได้อีก 48-72 ชั่วโมง ทำให้ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ก่อนหรือหลังไข่ตกก็มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้ทั้งคู่
แต่การมีเพศสัมพันธ์หลังวันไข่ตกอาจมีโอกาสน้อยกว่า เนื่องจากไข่ที่ตกในแต่ละรอบมีอายุค่อนข้างสั้น ทำให้กว่าจะเกิดการปฏิสนธิ ไข่ก็อาจจะเสื่อมสภาพไปแล้ว
ดังนั้นสิ่งที่จะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ดีที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตร คือการมีเพศสัมพันธ์ให้บ่อยขึ้น โดยการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 3 วันก่อนไข่ตก และภายใน 2-3 วันหลังจากที่คิดว่าไข่ตกไปแล้ว
หลังไข่ตกแล้วท้องจะมีอาการอย่างไร?
ช่วงที่ไข่และอสุจิปฏิสนธิกัน คุณแม่จะยังไม่สามารถสังเกตเห็นได้ถึงการเปลี่ยนแปลง โดยอาจจะต้องใช้ระยะเวลาราวๆ 7 วันถึงจะเริ่มมีสัญญาณบางอย่างว่ามีตัวอ่อนฝังตัวที่โพรงมดลูก เช่น มีเลือดออกจากช่องคลอด ปวดตะคริวบริเวณท้องน้อย อารมณ์แปรปรวน หรือเจ็บเต้านม
หลังจากนั้นอีกประมาณ 14-15 วัน หากประจำเดือนยังไม่มานั่นอาจหมายความว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น แต่เพื่อความแม่นยำ คุณแม่สามารถตรวจครรภ์ได้หลังจากวันที่คาดว่ามีการตกไข่ราวๆ 12-14 วัน ซึ่งนับเป็นช่วงที่เร็วที่สุดที่จะสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้
ทั้งนี้หากพยายามมีลูกด้วยตนเองแล้วยังไม่สำเร็จผล ให้ Prime Fertility Center เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของคุณ เพราะเราไม่เพียงแต่จะเป็นคลินิกเฉพาะทางที่ให้การรักษาด้านภาวะมีบุตรยากเท่านั้น แต่เรายังเข้าใจถึงความหมายของคำว่าครอบครัว
Prime Fertility Center คลินิกเฉพาะทางที่ให้การรักษาด้านภาวะมีบุตรยากที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าทั่วประเทศ พร้อมให้บริการด้วยเทคโนโลยีรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีความทันสมัย
หากสนใจอยากปรึกษาเกี่ยวกับการฉีดเชื้อผสมเทียม หรือ การทำเด็กหลอดแก้ว สามารถติดต่อนัดหมายได้ที่ช่องทางต่อไปนี้
—
ที่มา :
HDmall, การคำนวณวันไข่ตก (https://hdmall.co.th/blog/health/ovulation-count/), 4 มีนาคม 2567.
Hellokhunmor, อาการไข่ตก และวิธีนับวันตกไข่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ (https://hellokhunmor.com/การตั้งครรภ์/ระหว่างตั้งครรภ์/อาการไข่ตก-การนับวันตกไข่-การเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์/), 4 มีนาคม 2567.
Enfa Baby, การปฏิสนธิเกิดขึ้นได้อย่างไร ไขข้องข้องใจคุณแม่ (https://www.enfababy.com/การตั้งครรภ์/เคล็ดลับสำหรับแม่มือใหม่/บทความแนะนำ/การปฏิสนธิเกิดขึ้นได้อย่างไรไขข้องข้องใจคุณแม่), 4 มีนาคม 2567.
Enfa Baby, อุ่นใจ นับวันไข่ตก ให้เป๊ะ! ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ (https://www.enfababy.com/เครื่องมือ/คำนวณวันไข่ตก), 4 มีนาคม 2567.
Pobpad, นับวันไข่ตก วิธีง่าย ๆ ที่อาจช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น (https://www.pobpad.com/นับวันไข่ตก-วิธีง่าย-ๆ-ท), 4 มีนาคม 2567.
Pobpad, ไข่ตก สาระสุขภาพที่ผู้หญิงควรรู้ https://www.pobpad.com/ไข่ตก-สาระสุขภาพที่ผู้ห), 4 มีนาคม 2567.
Prime Fertility Center, อุ่นใจ นับวันไข่ตก ให้เป๊ะ! ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ (https://www.primefertilitycenter.com/วงจรการตกไข่/), 4 มีนาคม 2567.
Medthai, 8 วิธีการนับวันไข่ตก (คํานวณวันไข่ตก) & การตกไข่ คือ ? (https://medthai.com/การนับวันไข่ตก/), 4 มีนาคม 2567.
สนใจเข้ารับการปรึกษาภาวะมีบุตรยาก
ติดต่อ Prime Fertility Center
โทร : 062-648-6688 / 062-648-8866 / 02-029-1418–9
Line : http://line.me/ti/p/~@primefertility
Facebook : https://www.facebook.com/primefertilitycenter
E-mail : [email protected]