ขั้นตอนการแช่แข็งไข่ เริ่มต้นจาก
1. การฉีดยาฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่เข้าทางชั้นไขมันหน้าท้องเป็นเวลา 8-12 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 หรือ 3 ของรอบประจำเดือน เพื่อให้รังไข่ผลิตฟองไข่ให้เจริญเติบโตหลายๆใบต่างจากในรอบธรรมชาติที่จะมีฟองไข่ที่โตพอที่จะตกไข่ได้เพียงรอบเดือนละ 1 ใบ
2. เมื่อได้ไข่ขนาดเหมะสม แพทย์ก็จะทำการดูดเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอดภายใต้การดมยาสลบใช้เวลาในการเก็บไข่ประมาณ 20-30 นาที
3. นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะทำการเตรียมไข่ โดยสลายเซลล์พี่เลี้ยงไข่และแยกไข่ที่เป็นไข่อ่อน ( GV : Germinal vesicle , MI : Metaphase I )
ซึ่งไม่หมาะสมกับการแช่แข็ง และจะแช่แข็งเฉพาะไข่ที่พร้อมผสม หรืออยู่ในระยะ MII (Metaphase II )
4. จากนั้นไข่ที่ได้จะถูกนำไปแช่ในน้ำยาพิเศษสำหรับการแช่แข็งโดยลดน้ำในเซลล์ออกเพื่อไม่ให้ไข่เกิดผลึกน้ำแข็งโดยวิธีการ Vitrification เพราะจะมีผลต่อการทำลายเซลล์ที่แช่แข็งได้
5. เก็บรักษาไว้ในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิต่ำถึง -196 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้หลายสิบปีโดยที่สภาพยังคงเดิม จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการกระตุ้นรังไข่เพื่อแช่แข็งไข่เก็บไว้นั้นคล้ายคลึงกับขั้นตอนในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วแต่แตกต่างกันตรงที่ไข่ที่กระตุ้นและเก็บออกมาได้นั้นจะถูกแช่แข็งเก็บเอาไว้เลย โดยที่ยังไม่ได้ถูกนำไปผสมกับตัวอสุจิให้กลายเป็นตัวอ่อนสำเร็จรูปพร้อมใช้แต่รอละลายออกมาเพื่อนำมาผสมกับตัวอสุจิของสามีในอนาคต ดังนั้นการแช่แข็งไข่จึงเป็นอีกแนวทางเลือกในการวางแผนการมีครอบครัวในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการฟรีสอายุของไข่ ณ ขณะนั้นซึ่งคุณภาพของไข่ก็เทียบเท่ากับการมีบุตรในตอนอายุที่แช่แข็งไข่อีกด้วย
ในอดีตที่เคยใช้เทคโนโลยี Slow freezing ยังสามารถให้ผลสำเร็จจากการแช่แข็งมานานกว่า 24ปี เช่น ข่าว “คู่รักชาวอเมริกันคลอดบุตรจากตัวอ่อนแช่แข็งอายุ 24 ปี” ซึ่งปัจจุบันใช้เทคนิค Vitrification ที่ทันสมัยขึ้นและยังมีประสิทธิภาพ คุณภาพที่ดีขึ้นอีกด้วยดังนั้นการแช่แข็งไว้นานเป็นสิบ ๆ ปีก็สามารถสำเร็จได้เช่นกัน
อ้างอิง:
https://www.theguardian.com/society/2020/feb/19/first-baby-born-through-new-egg-freezing-fertility-technique-ivf
https://hilight.kapook.com/view/165438